วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

เกษตรผสมผสาน (เกษตรสร้างสรรค์)


เกษตรผสมผสาน (เกษตรสร้างสรรค์)
 มีเสียงโจมตีการเกษตรเชิงเดี่ยว หรือการปลูกพืชเฉพาะอย่างในทำนองทำให้สูญเสียความหลากหลาย รวมทั้งการใช้ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช ทำลายสภาพแวดล้อม

 รวมความแล้ว พืชเชิงเดี่ยวไม่ดี

 มองกันอย่างนี้ ชาวนาก็โดนข้อหา แต่แปลกที่ไม่ยักกล้ากล่าวหาชาวนา กลับไปกล่าวหาชาวสวน หรือผู้ประกอบการเกษตรรายใหญ่

 มันก็มีความจริงอย่างที่โจมตีแค่ส่วนเสี้ยวเดียว ส่วนดีก็มีไม่น้อย ดังนั้นเวลาจะสรุปอะไรต้องชั่งใจด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่งั้นก็ไม่มีอะไรดีซักอย่าง

 การเกษตรเชิงเดี่ยวเหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เพราะจะง่ายต่อการบริหารจัดการ สามารถใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรงเข้าช่วยได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำได้ ว่าอีกด้านหนึ่งพืชเชิงเดี่ยวก็จำเป็นต่อชีวิต ไม่ว่าข้าว มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และฯลฯ ผลผลิตส่วนเกินของพืชเชิงเดี่ยวก็ส่งออก หาเงินตราเข้าประเทศเช่นกัน

 ลองไม่มีคนปลูกพืชเหล่านี้สิ จะเอาอะไรกิน เอาอะไรใช้ เอาอะไรส่งออก

 ตรงข้ามกับพืชเชิงเดี่ยวคือพืชผสม ในพื้นที่เดียวมีตั้งแต่นาข้าว พืชไร่ พืชสวน ไม้ยืนต้น ผักสวนครัว สระน้ำสำหรับเลี้ยงปลา เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่นัก ใช้แรงงานตัวเองเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจ้างบางส่วน หรือใช้เครื่องทุ่นแรงเข้าช่วยบ้าง

 ข้อดีของเกษตรผสมผสานคือความหลากหลายของพันธุ์พืช แต่เน้นความอยู่รอด พอเพียงเลี้ยงชีพเป็นปฐม เหลือค่อยเก็บขาย เป็นเงินเป็นทองทีหลัง และไม่ได้มากมายนัก ผิดกับพืชเชิงเดี่ยวที่เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ หมายถึงเงินจำนวนมาก แต่อีกนั่นแหละเกิดเคราะห์หามยามซวย เจอโรคหรือแมลงศัตรูพืช หรือภัยธรรมชาติ ก็หมดตัว ในขณะพืชผสมผสานความเสี่ยงน้อยกว่า แม้เจอภัยธรรมชาติ ก็อาจมีบางอย่างหลงเหลือบ้าง

 มันเป็นเรื่องดีอย่าง เสียอย่าง เท่านั้นเอง

 การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน เพราะทรงเล็งเห็นว่า ครอบครัวเกษตรกรนั้นส่วนใหญ่มีที่ดินไม่มากนัก หากมุ่งทำการเกษตรเชิงเดี่ยวก็เท่ากับเอาชีวิตไปเสี่ยง สู้ทำเกษตรผสมผสานเป็นชีวิตที่พอเพียง อย่างน้อยมีกินไม่อดตาย ถ้าเก็บออมเป็นก็จะมีเงินเหลือในท้ายที่สุด เป็นความมั่นคงของครอบครัวอีกประการหนึ่ง

 ผมเห็นภัยประการหนึ่งในปัจุบันและอาจลามสู่อนาคต นั่นคือราคาอาหารแพงจับจิต แพงเป็นทอดๆ กว่าจะถึงมือผู้บริโภคก็หนักหนา ดังนั้นการทำการเกษตรผสมผสานคือการสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตในครอบครัว จะเป็นข้าวสาร พริก มะเขือ ตะไคร้ มะนาว และฯลฯมีให้ก็บให้เด็ดแทนควักกระเป๋าซื้อดะ ที่เหลือก็ไว้แจกหรือขายก็ได้

 สำหรับคนเมือง อย่าไปคิดว่าต้องมีพื้นที่มากมาย เอาแค่ลานเล็กๆข้างบ้าน หลังบ้าน หรือบนดาดฟ้า ลองหาพืชผักสวนครัวมาปลูก มันก็ทุ่นรายจ่ายโข เหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือผู้มีรายได้มาก แต่ต้องการอาหารปลอดภัยเป็นหลัก ถือเอาเรื่องประหยัดเป็นผลพลอยได้

 วิกฤติอาหารจะมาหรือไม่มาก็ช่างมัน ถ้าเราได้ลงมือทำ อย่างน้อยความอยู่รอดเล็กน้อยก็ได้บังเกิดขึ้นแล้ว

พอใจ สะพรั่งเนตร
ที่มา naewna.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น