วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

เกษตรผสมผสานกับการมีเงินออม

7 มกราคม 2010
By 
(เรื่องนี้ผมลอกจาก www.kobsak.com มาให้อ่านกันครับ น่าจะเป็นประโยชน์และกำลังใจต่อเหล่าฝูงปลาที่ว่ายทวนน้ำอยู่)
ในอดีต เกษตรกรไทยสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง อาหารการกินอุดมสมบรูณ์ ถึงกับมีคำกล่าวกันว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่ปัจจุบัน พอลงพื้นที่ กลับพบแต่ ปัญหาหนี้สินและความยากจน จนหลายคนอดถามคำถามไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น กับภาคเกษตรของไทย

สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของปัญหา ก็คือ การปลูกพืชเชิงเดียว
ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มัน อ้อย ปอ ฝ้าย เกษตรกรมีวัฏจักรการทำงานที่คล้ายๆ กัน ที่แต่ละคนจะมาช่วยกันลงแขกตอนปลูก เมื่อเสร็จก็รอที่จะช่วยกันเก็บเกี่ยว และลุ้นว่าราคาปีนั้นจะดีหรือไม่
ถ้าราคาดี ก็จะมีชีวิตที่ดี บริโภคได้มาก แต่ว่าถ้าราคาไม่ดี ก็จะกลายเป็นหนี้เป็นสิน ต้องกู้ยืมทั้งจาก ธกส. หรือจากนายทุนหน้าเลือดในพื้นที่ ถ้าไม่ดีหลายปีต่อเนื่อง ที่ดินที่เอาไปจำนอง ก็จะหลุดจำนอง หมดที่ทำกิน มีความลำบากในชีวิต
ตรงนี้ การปลูกพืชผสมผสาน เช่น ตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง โดยทำทั้งปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกไม้ผล ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำอาชีพหัตถกรรมควบคู่กันไป จึงเป็นคำตอบ เป็นทางออกที่น่าสนใจ
จากที่เคยไปพูดคุยกับเกษตรกรหลายคน พบว่าเมื่อได้เริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสานแล้ว หนี้สินต่างๆ ที่เคยมี ก็กลับสามารถทยอยชำระคืนไปได้ ในที่สุดชีวิตก็กลับมีความอุมสมบรูณ์เป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง





ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
  • การปลูกพืชผสมผสาน ช่วยให้ชีวิตของเกษตรกรไม่ต้องขึ้นกับราคาสินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ถ้า ราคาข้าวตกลงในปีนั้น ก็ยังมีสินค้าตัวอื่นที่คอยช่วยจุนเจือช่วยชีวิตได้ ความจริง มีคนเคยบอกว่า ถ้าทำเกษตรผสมผสานแล้ว มีทุกอย่างในสวนของตนแล้ว อยากกินอะไรก็สามารถไปหามากินได้ ไก่ ปลา กล้วย มะม่วง ผลไม้ต่างๆ ต่างมีอยู่พร้อมบริบูรณ์
  • มีรายได้สม่ำเสมอทั้งปี ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้มีการเก็บเกี่ยวปีละครั้ง เหมือนแต่ก่อน การเก็บออมก็เกิดขึ้นได้
  • เปลี่ยนวิถีชีวิต เนื่องจากแต่ก่อนพอช่วยกันลงแขกเสร็จ ชีวิตก็จะว่าง หลายคนไม่รู้จะทำอะไร ก็เล่นหวย เล่นการพนัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้จ่าย รายจ่ายก็พอกพูน แต่พอหันมาปลูกพืชแบบผสมผสานแทน ก็กลับมีงานทำทั้งวัน มีอยู่คนหนึ่งที่ไปคุยด้วยบอกว่า ตื่นเช้ามาก็ไปเก็บผักชะอมส่งตลาด สายมาก็ไปดูนา เสร็จก็ไปดูผักและสวนผลไม้ หลังจากนั้นก็ไปดูแลเล้าไก่ ปลา พอเสร็จก็ไปทำงานฝีมือที่โรงเรือน เรียกว่าวุ่นทั้งวัน จนไม่มีเวลาเข้าไปกรายใกล้อบายมุข ที่ทำให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านั้น ความพอเพียงของรายได้ก็เกิดขึ้น
  • บางคนเมื่อเริ่มมีรายได้สม่ำเสมอมากขึ้น ก็สามารถที่จะลงทุนระยะยาวได้ โดยจากการเริ่มเลี้ยงโคนม วัว กระบือที่นอกจากจะได้ของเสียมาทำปุ๋ยแล้ว ยังเป็นการลงทุนที่จะสามารถให้ผลในช่วงหลังเมื่อนำไปขาย
  • บางคนแบ่งที่ทำมาหากินส่วนหนึ่ง ไปทำป่า ปลูกไม้เนื้อแข็งเก็บออมเอาไว้เป็นธนาคารต้นไม้ เอาไว้เพื่อขายในอนาคต เท่าที่ได้ยินมา พอมีลูก ก็ให้เริ่มปลูกต้นไม้ยืนต้นเหล่านี้ พอลูกโต ก็ตัดไปขาย เพื่อส่งลูกเรียน ระหว่างทางต้นไม้ก็ช่วยให้พื้นดินชุ่มชื้น และเป็นหนทางที่จะทำเกษตรไม่เพียงแต่แนวราบ แต่ทำในแนวดิ่งด้วย
ด้วยเหตุนี้ การทำเกษตรผสมผสานจึงเป็นทางออกของชีวิตให้กับเกษตรกร จากเดิมที่เป็นลูกไล่ของกลไกตลาด ที่ทำให้ชีวิตของหลายคนต้องพลัดตกลงไปหลุมบ่อของการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จากการกู้ยืม การซื้อปุ๋ยเคมี การรอให้ราคาดี และความยากลำบากที่เกิดขึ้นเมื่อราคาไม่เป็นดังคาด ให้สามารถก้าวไปสู่ความเป็นอิสระในชีวิต ที่จะมีรายได้สม่ำเสมอ มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ สามารถชำระคืนหนี้ และเก็บออมเพื่ออนาคตที่ดีของตนในที่สุด ก็ขอเอาใจช่วยครับ
ที่มา burirom.ketakawee.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น